วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553

ดาวประดับฟ้า "มัณฑนา โมรากุล" (ตอนที่ 1):ชีวิตต้องสู้!

ดาวประดับฟ้า "มัณฑนา โมรากุล" (ตอนที่ 1):ชีวิตต้องสู้! ดูวีดีโอประกอบ ดูวีดีโอประกอบจาก Manager Multimedia
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 มกราคม 2553 13:34 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
มัณฑนา โมรากุล

มัณฑนา โมรากุล

จุรี โอศิริ, พิทยา บุณยรัตพันธุ์, จันทนา โอบายวาทย์, รุจี อุทัยกร, สุปาณี พุกสมบูรณ์ และมัณฑนา โมรากุล

หลวงสิริราชทรัพย์ (ช. โมรากุล) - พ่อ

ครูผัน เครือสุวรรณ – แม่

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

วิลาศ โอสถานนท์

ผลงานเพลงชุด "วังน้ำวน" ของ มัณฑนา โมรากุล ชุดนี้ถือเป็นเพลงยอดนิยม

มัณฑนา โมรากุล วัย 87 ปี ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 9 คนของศิลปินแห่งชาติ 2552 สาขาศิลปะการแสดง ด้านดนตรีไทยสากล – คำร้อง เธอเป็นอดีตนักร้องหญิงคนแรกของวงกรมโฆษณาการ เธอร้องเพลงมาตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีการบันทึกแผ่น ร้องสดๆ ออกอากาศในสถานีวิทยุกรมโฆษณาการ (วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย)
       
        เธอค้นพบการเปล่งเสียงสูงโดยไม่มีขีดจำกัด เธอเรียกกลวิธีนี้ว่า "เสียงสมอง" เธอใช้ชีวิตการเป็นนักร้องเพียง 12 ปีจากนั้น ลาออกจากกรมโฆษณาการ ในยุคที่น้ำเสียงลงตัวที่สุด ทิ้งเสียงเพลงส่วนหนึ่งให้แก่แฟนเพลงได้ระลึกถึงเธอ
       
        ผลประกาศเมื่อเวลา 12.00 น. ในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2553 อยู่ในวาระเดียวกับที่ครูเอื้อ สุนทรสนาน อดีตหัวหน้าของเธอได้รับรางวัลบุคคลสำคัญของโลกในด้านดนตรีจากยูเนสโก ซูเปอร์บันเทิง ASTV ออนไลน์ ร่วมแสดงความยินดีกับมัณฑนา โมรากุล ด้วยเรื่องราวและบทเพลงของเธอ
       
        งานชิ้นนี้ เรียบเรียงขึ้นจากบทสัมภาษณ์เมื่อปี 2538 วัย 72 ปีในปีนั้นนักจัดรายการเพลงเก่า ร่วมกับวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ โดยความสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และกรมประชาสัมพันธ์จัดงาน "ดาวประดับฟ้า มัณฑนา โมรากุล" เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
        ...
       ชีวิตลำเค็ญของมัณฑนา โมรากุล
        มัณฑนา (เจริญหรือจุรี) โมรากุล ชื่อเล่น คือ "แป๋ว" เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2466 ในวังสวนสุพรรณ (ตามพระนาม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ กรมขุนสุพรรณภาควดี) พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ - พระสนมเอกท่านแรกในรัชกาลที่ 5) สถานที่ตั้งของวังสวนสุพรรณคือ ต.สวนนอก.อ.ดุสิต ริมคลองสามเสน
       
        ปี 2486 บิดาของเธอ-ชัย โมรากุล ได้พระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์จากขุนเป็นหลวงสิริราชทรัพย์
       
        วังสวนสุพรรณมี "คณะละครเจ้าคุณพระประยูรวงศ์" ซึ่งมีความสามารถในการแสดงทั้งละครนอก ละครใน และละครดึกดำบรรพ์ ครูละคร "ผัน เครือสุวรรณ" ได้แต่งงานกับชัย โมรากุล ตั้งแต่สมัยไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ ข้างฝ่ายพ่อ ชัย โมรากุลบรรพบุรุษเป็นคนจีน สามารถพูดต่างประเทศได้ดี สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ.2457) เป็นล่ามประจำกองทหารไทยไปร่วมราชการสงครามในทวีปยุโรป โดยเดินทางไปพร้อมกับหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากรและเลื่อน พงษ์โสภณ (นาวาอากาศเอก) เมื่อได้ชัยชนะกลับมา ได้พระราชทานนามสกุล "โมรากุล" และเลื่อนยศสิบเอกจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าทำงานในกรมบัญชีกลางตามหัวเมืองใหญ่ๆภายใต้การสนับสนุนของพระยาพลเทพ สงคราม จนได้ตำแหน่งขุนและหลวงสิริราชทรัพย์ตามลำดับ
       
        หัวเมืองใหญ่ที่หลวงสิริราชทรัพย์โยกย้ายอาทิ ระนอง ภูเก็ต นครศรีธรรมราชและราชบุรี หลวงสิริราชทรัพย์มีบุตรชาย-หญิง อันเกิดจากแม่ครูผัน 6 คน เด็กหญิงเจริญ โมรากุล เป็นลูกคนที่ 4 เนื่องจากแม่และลูกต้องโยกย้ายตามราชการของพ่อ เด็กหญิงเจริญจึงเข้าเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนศึกษากุมารี จ.นครศรีธรรมราช และเริ่มต้นร้องเพลงครั้งแรกที่โบสถ์พระคริสต์ โดยมีมิสแมคเคนเป็นครูขับร้องคนแรกในชีวิต ชีวิตโยกย้ายจากนครศรีธรรมราชไปราชบุรีและกลับมาอยู่ประจำที่วังสวนสุพรรณ การศึกษาขั้นสุดท้ายของเธอคือ มัธยมสอง โรงเรียนเสาวภา
       
        ครูผัน แม่ของเธอไม่พอใจหลวงสิริราชทรัพย์ที่เบนเข็มชีวิตสู่วงการเมือง จึงตัดสินใจแยกทางกัน ขณะนั้นเด็กหญิงเจริญ โมรากุลอายุได้เพียง 7-8 ปี แม่ลูกคู่นี้กลับมารับใช้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ในวังสวนสุพรรณจนเป็นที่โปรด ปราน
       
        "ตอนนั้นท่านเจ้าคุณฯ อายุประมาณ 90 ปี พอสัก 2 ทุ่มเสวยเสร็จปั๊บ ดิฉันมีหน้าที่ขึ้นไปเกาเนื้อตัวท่าน ท่านบอกว่า อีกเด็กคนนี้หน้าตามันดี ไม่เหมือนพ่อมัน พ่อดิฉันเนื้อตัวขาวจั๊ว ท่านว่า ไม่เหมือนลูกเจ๊ก คิ้วเข้มมากเลยตอนนั้น ให้ขึ้นไปบีบนวดทุกค่ำและอ่านหนังสือให้ท่านฟังถึง 5 ทุ่ม ดิฉันได้ค่าเกาคืนละ 2 บาท ทานขนมได้ตั้งหลายวัน"
       
        แม้ว่าจะจากพ่อตั้งแต่อายุ 7 ขวบ แต่ความผูกพันทำให้เธอติดตามข่าวสารของพ่ออยู่ไม่ได้ขาด
       
        "รู้ว่าพ่อทำงานอยู่ในรัฐสภา ทำงานอยู่ในพระที่นั่งอัมพรฯ จะต้องเดินมาทางหลัง ร.พันเก้ามาคอยแอบดูพ่อขับรถกลับบ้านทุกเย็น"
       
        ต่อมาหลวงสิริราชทรัพย์ เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ถูกจับกุมฐานะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม
       
        "พอตัดสิน คุณแม่ร้องไห้บอกดิฉันว่า คุณพ่อเธอโดนยิงเป้าแล้ว ตอนนั้นดิฉันอายุ 13 ปี เอาหนังสือพิมพ์มาดู พวกกาสีแดงเป็นพวกที่ถูกยิงเป้า พวกกาสีน้ำเงินจำคุกตลอดชีวิต ดิฉันก็เลยบอกว่าไม่ใช่คะ คุณพ่อแค่โดนจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น"
       
        "ดิฉันไปเยี่ยมเพราะยังไม่ได้ส่งบางขวาง พ่อจำดิฉันไม่ได้เพราะจากกันตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ท่านถามแม่ชื่นเมียคนใหม่ว่า แม่ชื่นๆ เด็กรุ่นๆ คนนี้ใคร ก็ยายแป๋วลูกคุณหลวงไง พ่อเอาแว่นออกมาใส่โตอย่างงี้เชียวหรือ พ่อเรียกไปสั่งว่าให้ทำตัวดีๆ นะ รุ่งขึ้นพ่อถูกส่งเข้าแดน 6 คุกบางขวาง ห้องขังติดกับกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ติดอยู่ 8 ปี"
       
        ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่หลวงสิริราชทรัพย์ถูกจองจำ เธอเป็นคนเดียวที่ส่งเสียพ่อ และเลี้ยงดูแม่ พี่ น้อง รวมหลายชีวิต
       
        "ดิฉันส่งตลอด 8 ปี เอาพี่สะใภ้กับพี่ชายไปเช่าบ้านที่ริมบางขวาง ค่าเช่าบ้านตอนนั้น 12 บาท ค่าอาหารให้ทำใส่ปิ่นโตเดือนละ 300 บาท ค่าบุหรี่ อุปกรณ์ต่างๆ ก็เกี่ยวกับการศึกษาวิชาโหราศาสตร์ ฉันจ่ายหมด"
       
        หลวงสิริราชทรัพย์เป็นคนไทยรุ่นแรกๆ ที่ศึกษาวิชาโหรศาสตร์สากล เมื่อพ้นโทษจึงหาเลี้ยงชีพด้วยการเขียนบทความพยากรณ์โชคชะตาทางหน้าหนังสือ พิมพ์โดยใช้นามปากกาว่า "ช.โมรากุล"
       
        "ไม่รู้ว่าทำไมถึงรักพ่อมาก ทั้งที่คุณแม่ก็ดีกับดิฉันมาก แม่ยังพูดเลยว่า ทำไมเลือดพ่อมันแรงเหลือเกิน ความเป็นเด็กตอนนั้นคิดว่า บ้านหลวงอดุลย์(หลวงอดุลย์เดชจรัส) หลวงพิจารณ์พลกิจ(พ.ต.อ.) มีบ้านอยู่ในบริเวณใกล้ๆ วังสวนสุพรรณ อยากหาระเบิดไปขว้างนัก ความโกรธที่จับพ่อเราเข้าคุกน่ะ"
       
        หลวงสิริราชทรัพย์ ได้รับการนิรโทษกรรมสมัยรัฐบาลม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช
        "ดิฉันใช้เสียงนี่แหละเป็นเสน่ห์ ตกเบิกเงินทองที่คุณพ่อติดอยู่ 8 ปีได้คืนหมด ยศก็คืนหมด ไม่งั้นพี่น้องดิฉันซึ่งเป็นผู้ชายเป็นข้าราชการในสำนักนายกฯไม่ได้ ท่านจอมพลป.ถูกชะตา..ลูกศัตรูอย่างดิฉันมาก ท่านยกเว้นเด็กคนนี้ให้คนหนึ่ง"
       
        เธอเริ่มทำงานที่กรมโฆษณาการได้เพียง 3 ปี เจ้าคุณพระประยูรวงศ์สิ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2486 เธอจึงพาครอบครัวออกมาเช่าบ้านอยู่เอง
        "ในห้องที่เจ้าคุณพระอ่านหนังสือจะมีพระบรมรูป ร.5 ก่อนออกจากวัง ดิฉันฝันว่าเป็นเงาเดินออกมาลูบศีรษะ เพราะเมียท่านโปรดดิฉันมาก ดิฉันเล่าให้แม่ฟัง แม่บอกว่า ท่านโปรดลูกจะเจริญ ก็เจริญจริงๆ 10 กว่าปีอยู่ในกรมฯก็ดีขึ้นตามลำดับ ทุกวันนี้บ้านดิฉันบูชาพระบรมรูปท่าน ลูกดิฉันไปเรียนเมืองนอก ดิฉันก็ให้ห้อยคอติดตัวไว้เสมอ ระลึกถึงท่านดีที่สุด นี่เป็นความเชื่อของดิฉัน"
        ...
       จากเพลงไทยเดิม - ไทยสากล
        จากการร้องเพลงในโบสถ์เมื่ออายุ 6 ขวบ หันมาขับร้องเพลงไทยเดิมซ้อมกับครูเจอ บุรานนท์ซึ่งเป็นแม่ของป้าทอง (สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต - เสียชีวิตแล้ว) แม่ของทนงศักดิ์ ภักดีเทวา (เสียชีวิตแล้ว)
       
        "บ้านเราอยู่ใกล้ๆกัน ป้าทองเรียกดิฉันว่าแป๋ว วันนี้คุณเจอไม่ไป มาต่อเพลงเถา 4 บท ร้องแล้วได้ 5 บาท เราเองยากจน แม่อยู่ในวังสวนสุพรรณมีเงินเดือนสำหรับเป็นค่ากับข้าว ซึ่งมันไม่พอหรอก เราเลยต้องต่อเพลงเพื่อที่จะเอาเงินไปแบ่งเบาภาระตรงนี้ พวกเพลง พรานดีดน้ำเต้า อะไรต่อมิอะไร ดิฉันร้องได้หมด ความที่เราไม่รู้ดนตรี บอกเค้าว่า ท่อนนี้ร้องให้ทำฉิ่งแบบนี้นะ (ส่งสัญญาณให้รู้) อายุ 15 ปียังร้องเพลงไทยเดิมอยู่เลย...ดิฉันเกลียดเพลงสามชั้นเพราะมันจะหลับเสีย ให้ได้ พอสองชั้นหรือชั้นเดียว สนุกค่ะ เสียงฉิ่งเสียงฉับมันกระชั้น"
       
        ความชอบส่วนตัว เธอนิยมเพลง "ในสวนรัก" ของจำรัส สุวคนธ์มาก ร้องเล่นบ่อยๆ ป้าอึ่งซึ่งเป็นเพื่อนของแม่ได้พาไปฝึกเรียนร้องเพลงไทยสากลกับครูเฟิม (สกนธ์ มิตรานนท์) ที่สะพานเฉลิมวันชาติ ทุกเย็นเธอต้องฝึกร้องเพลง "จันทร์แจ่มฟ้า" ร้องเพลงตะโกนสุดเสียง ครูสกนธ์ไปสูบบุหรี่ที่มุมไหน จะตะโกนถามว่า คุณครูได้ยินมั้ยคะ
       
        "ดิฉันเป็นคนร้องเพลง เพลงดังชัด ครูก็บอกว่า ได้ยินๆ"
       
        ครูสกนธ์ มิตรานนท์เป็นคนเปลี่ยนชื่อจาก "เจริญ" มาเป็น "จุรี โมรากุล" ซึ่งแปลว่า พู่สีแดงที่ปลายหอก
       
        จุรี โมรากุลอัดเสียงครั้งแรกด้วยงานเพลงของครูสกนธ์ มิตรานนท์และครูพิมพ์ พวงนาคทั้งสิ้น 6 เพลง คือ น้ำเหนือป่า,จันทร์แจ่มฟ้า,สกุณาพาคู่,ใจชาย,สุดอาลัย,ฉันและเธอ ตอนนั้นเธอเพิ่งจะลาออกจากโรงเรียนเสาวภาไม่นาน อายุยังน้อยและไว้ผมเปีย ครูพิมพ์เห็นแววว่า เธอจะไปได้ไกลในวงการเพลง จึงนำไปฝากนายห้าง ต.เง็กชวน และขายเพลง "น้ำเหนือป่า" ด้วย นายห้างพอใจแต่เพลงเท่านั้น หาได้สนใจในตัวเธอไม่
       
        "นายห้างบอกว่าเพลงนี้ซื้อไว้ได้ แต่เด็กหางเปียคนนี้ไม่เอา ไม่มีชื่อเสียง ดิฉันได้ยินเลยอาฆาตประสาเด็ก แหม..พอมัณฑนามีชื่อเสียงขึ้นมา นายห้างต.ไปที่กรมประชาสัมพันธ์ อ้าว...หนูจุรีไปถ่ายรูปหน่อยนะ นายห้างจะเอาไปโชว์ ไม่เอา ไม่ไป ไม่มีรูปดิฉันโชว์ที่ห้างต.เง็กชวนเลย แหม...ตอนนั้นมาบอกว่า เด็กหางเปียไม่เอา"
       
        เพลงทุเรียนดีๆ ประกอบละครวิทยุของคณะจารุกนก ของครูพิมพ์ พวงนาค ส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของเธอ
       
        วิลาส โอสถานนท์(อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์)ได้ยินในละคร จึงสั่งให้เอาเด็กที่ร้องเพลงทุเรียนดีดีไปตัดเสื้อ 2 ชุด ชุดหนึ่งเป็นชุดราตรี อีกชุดหนึ่งเป็นเสื้อแขนกระบอกสีแดงและให้นุ่งผ้าลาย สวมงอบสีแดงขึ้นพระที่นั่งอัมพรสถาน ร้องเพลงในงานวันเกิดผู้สำเร็จราชการในหลวงรัชกาลที่ 8 (พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา) ตรงกับวันที่ 24 กรกฎาคม
       
        ปีนั้น พ.ศ. 2483 จุรี โมรากุลย่องไปบนฟลอร์ ตัวนิดเดียว กระเดียดกระจาดทุเรียนไม่ไหว จมื่นมานิตย์นเรศ(หัวหน้ากองกระจายเสียง) ออกมาช่วยกระเดียดไปขายหลวงธำรง(หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์)เงินเต็มกระจาด จะเอารายได้นี้ไปสมทบทุนซื้อปืนให้ทหาร หลังจบการแสดง วิลาศ โอสถานนท์เดินมาถามว่าชื่ออะไร และบอกให้แม่พาเธอไปเขียนใบสมัครในวันรุ่งขึ้น จะรับไว้เป็นนักร้องของวงหัสดนตรีกรมโฆษณาการ กินเงินเดือน 30 บาท ซึ่งสูงกว่าเงินเดือนเสมียน ซึ่งได้ แค่ 20 บาทเท่านั้นเอง ส่วนอายุยังไม่ถึงให้เป็น "ลูกจ้างวิสามัญ" ไปก่อน
       
        เธอเป็นนักร้องหญิงคนแรกประจำวงหัสดนตรีกรมโฆษณาการเข้าไปทำงานขณะที่ครู เอื้อ สุนทรสนานไม่อยู่ เดินทางไปซื้อเครื่องดนตรีและรับบิลลี่ (สิริ ยงยุทธ) ตามคำสั่งหลวงสุขุม(หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์) เธอรู้จักแต่น้าเวส (เวส สุนทรจามร) ความเปิ่นของเด็กที่ไม่ค่อยจะได้ไปไหน คิดว่า น้าเวสคือ หัวหน้าวง วันจริง ครูเอื้อเป็นคนขึ้นไปให้จังหวะบนพระที่นั่งฯ เธอแต่งตัวเป็นแม่ค้าทุเรียน อดสงสัยไม่ได้ว่า ผู้ชายที่ผมตกๆ คนนี้ เป็นใครกัน ทำไมน้าเวสไม่ขึ้นไปให้จังหวะ ถึงมารู้ความจริงว่า เวส สุนทรจามรไม่ใช่หัวหน้า เธอยังมีคำถามต่อไปว่า ทำไมหัวหน้าหนุ่มจังวะ!
        ...
       สงครามอินโดจีน - มหาเอเชียบูรพา
        ทำงานเพียงไม่กี่เดือนเกิดสงครามอินโดจีน ช่วงนี้ไม่มีเพลงใหม่ ส่วนใหญ่เอาเพลงเก่ามาร้อง การร้องเพลงส่วนใหญ่ในช่วงนี้มักเพลงปลุกใจรักชาติ เพลงในมาร์ชจังหวะเป็นส่วนใหญ่ อย่างเพลง "ไทยรวมกำลัง" เธอร้องสุดเสียง คนที่ร้องเต็มเสียงเต็มคำ เวลาเสียงตกผู้ฟังจะจับได้ เธอไม่ชอบร้องเพลงแบบขมุกขมัว
       
        ในช่วง 12 ปี เงินเดือนข้าราชการขึ้นจาก 30 บาทเป็น 300 และ 450 บาทตามลำดับ ครั้งสุดท้ายก่อนออกจากราชการได้ 850 บาท
       
        ช่วงสงครามไม่มีเพลงใหม่ ท่านหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์เอาเพลง บัวขาว,ลมหวล,เพลิน ของวงไทยฟิล์มที่ ม.ล.พวงร้อย สนิทวงศ์แต่งมาร้องตอนกลางคืนก่อนปิดสถานี ช่วงนี้ไม่เหลือนักประพันธ์เพลงเลย ครูแก้ว อัจฉริยะกุลและเลิศ ประสมทรัพย์ไปเป็นทหารอยู่ที่พระตระบอง ในที่สุด ครูเอื้อ สุนทรสนานให้ครูสมพงษ์ ทิพยกลินเขียนโน้ตมาให้เธอ แล้วบอกว่า อยากร้องเพลงใหม่ต้องใส่เนื้อร้องเอง จนได้เพลง "ใจหนอใจ" เพลงนี้ ต่อมาให้จันทนา โอบายวาทย์เป็นผู้บันทึกเสียง เนื่องจากไม่อยากได้ชื่อว่า แต่งเอง ร้องเอง ความจำเป็นในช่วงสงครามทำให้มัณฑนาประพันธ์เพลงอยู่หลายเพลงอาทิ ใจหนอใจ,สุดคะนึง,วาสนากระต่าย (เฉพาะเพลงนี้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงโปรดมาก)
       
        จากยุคสงครามอินโดจีนต่อสงครามมหาเอเชียบูรพา นักร้อง – นักดนตรี ก็เหมือนกับประชาชนทั่วไปที่ต้องหนีระเบิดในช่วงสงคราม
       
        "หนีระเบิดกันสนุกมาก ครูแก้วจะแต่งเพลง "ฉันไม่ชอบเดือนหงาย" - ฉันได้เห็นแสงเจ้าแล้วเศร้าระกำ ช้ำใจ อยากจะให้จากไปลับไกลแรมรา ดิฉันจำได้แม่นยำ วันหนึ่งร้องเพลงนี้อยู่ที่ศาลาแดง ต้องถอดรองเท้าวิ่งจากศาลาแดงไปช่องนนทรี มันมาตอนกลางวัน แต่ตอนขากลับ เดินๆ พักๆ 3 เที่ยวยังไม่ถึงศาลาแดง ไม่รู้ว่าวิ่งหนีด้วยความกลัวไปได้ยังไง อีกคราวหนึ่งอยู่กับน้าสมพงษ์ (ทิพยกลิน) พอหวอมา รี (จุรี โมรากุล) ลงหลุมหลบภัยเถอะ เป็นหลุมดินพอก ขุดกันเอาไว้ เข้าไปนี่หน้าตาเละหมดเลย น้าสมพงษ์บอกว่า ไม่เป็นไรรี น้าอยู่นี่ เราตายด้วยกัน เฮ้ย..หนูไม่ตายนะ หนูกลัว น้าพูดอะไรของน้าก็ไม่รู้"
       
        "ดิฉันว่ากลัวระเบิดแล้ว ชวลีย์ ช่วงวิทย์ นี่กลัวกว่าดิฉันอีก วันนั้นร้องเพลงที่โรงหนังโอเดี้ยน จำได้เลยชวลีย์ใส่ชุดสีเขียวฝรั่ง ส่วนดิฉันร้องกล่อมมวนาเสร็จก็รีบถอดเสื้อ เตรียมขึ้นพากย์หนังต่อ พวกนั้นไม่มีภาระต่อ เล่นดนตรีร้องเพลงเสร็จก็กลับบ้าน ส่วนดิฉันต้องพากย์หนังต่อ เพราะครูแก้วเลือกดิฉันไว้ ซึ่งทำให้ดิฉันมีรายได้ขึ้นอีกโปรแกรมละ 4 พันบาท ขณะที่พากย์อยู่ ชวลีย์กลัวระเบิดกระโดดลงท่อที่หน้าโรงหนังโอเดี้ยน ชุดสีเขียวฝรั่งหมดเลยเพราะความกลัวแท้ๆ"
       
        "อีกครั้งกับรุจี อุทัยกร (นักร้องหญิงคนที่ 2 ของกรมโฆษณาการเข้ามาหลัง มัณฑนา 1 วัน) ที่กรมประชาสัมพันธ์ร้องเพลงกลางคืน ข้างๆกองสลากจะมีทรายอยู่กองนึง ขี้หมาเต็มเลย กำลังลงมาจากกรมฯ ได้ยินเสียงปืนกลรัว ดิฉันไม่ฟังเสียงแล้ว สองคนกับรุจี ขอให้รอดเถอะ กลิ้งไปกับกองขี้หมาชีวิต ช่วงสงครามชีวิตเป็นอย่างนี้"
        ...
       จอมพลป. พิบูลสงคราม ศัตรูผู้มีพระคุณ
        ต่อมาชื่อ จุรี โมรากุล ถูกปลี่ยนอีกครั้งเป็น "มัณฑนา โมรากุล" และประกาศอย่างเป็นทางการทางวิทยุให้ทราบทั่วกันตามคำสั่งของจอมพลป.พิบูล สงคราม
       
        "ท่านบอกว่า จุรี แปลว่า พู่สีแดงที่ปลายหอก ท่านเขียนชื่อ วชิรา มัทนา มัณฑนา รุจิรา ให้จมื่นมานิตย์เอามาให้ดิฉันเลือก ดิฉันเลือกมัณฑนา แหม..ดวงตอนนั้นมันขึ้นเหลือเกิน เปลี่ยนชื่อก็ต้องประกาศวิทยุ"
       
        ตอนนั้น … จอมพลป. พิบูลสงครามชื่นชมนักร้องหญิงคนหนึ่งของวงหัสดนตรีกรมโฆษณาการ รุ่นเกล้เคียงกับมัณฑนา โมรากุล แต่กระนั้นท่านจอมพลก็ยังมาเลียบๆ เคียงๆ ถามความสมัครใจกับมัณฑนา โมรากุล เรื่องที่เธอถูกโยงเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น เกิดจากกรณีที่ท่านพบเห็นว่า มัณฑนา โมรากุล เจ้าของเสียงเพลง "สวมหมวก" (คำร้อง – จมื่นมานิตย์นเรศ ปี 2484 ) ส่งเสริมวัฒนธรรมสมัยใหม่ตามประกาศรัฐนิยม (สวมหมวก สวมถุงน่อง เลิกกินหมากและกล่าวคำว่าสวัสดี) กลับฝ่าฝืนไม่ยอมสวมหมวกในที่สาธารณะ
       
        "ดิฉันถูกเรียกไปไต่สวนเรื่องไม่สวมหมวก เวลานั้นไปติดต่อราชการต้องสวมหมวก ถ้าไปโรงพยาบาลแล้วไม่สวมหมวกจะไม่ได้รับการต้อนรับ วันนั้นเรานั่งรถกลับบ้านหมวกมันก็เผยิบๆ เราเห็นว่า ใกล้ถึงวังสวนสุพรรณแล้ว พอรถถึงกรมการปกครองฯก็เลยถอดหมวกเอามาวางไว้บนตัก บังเอิญท่านจอมพลเอารถออกจากกรมการปกครองฯพอดี เราก็ตกใจ พอรุ่งขึ้นมีจดหมายเรียกตัวนางสาวมัณฑนาไปสอบสวนที่วังสวนกุหลาบ พระราชธรรมนิเทศ รองอธิบดีกรมโฆษณาการเป็นผู้สอบ ทำไมมัณฑนาผู้ร้องเพลงสวมหมวก แต่ไม่มีหมวกบนหัว?"
       
        "ตอนนั้นดิฉันยังเด็ก ร้องไห้ใหญ่เลย ดิฉันบอกว่า ลมมันตี เห็นว่าใกล้ถึงวังสวนสุพรรณแล้วก็เลยถอด ท่านจะเอาโทษดิฉันตัดเงินเดือน 3 เดือน ฉันบอกว่า ฉันต้องเลี้ยงแม่ พ่อติดคุก น้องอีกหลายคน ท่านบอกว่าเรื่องนี้ต้องไต่สวนกันตลอดชีวิต ตอนหลังเรื่องไม่สวมหมวกพับไป เอาเรื่องไม่เคารพผู้นำขึ้นมาแทน ท่านจอมพลฯ เห็นว่าไม่ได้ไหว้ท่าน ดิฉันตอบว่าตกใจจริงๆ ไม่คิดว่าจะเจอท่านที่หลังวังสวนสุพรรณ มันเป็นคราวเคราะห์ของดิฉัน นักดนตรีพูดกันว่า เฮ้ย...งานนี้โดนเก็บ (เป็นภรรยาลับ) อีกคนแล้ว ต้องหานักร้องใหม่อีกแล้ว"
       
        "ตอนหลังท่านถามตรงๆว่า อยากสบายแบบ..(นักร้องหญิงคนหนึ่งของกรมฯ รุ่นใกล้เคียงกับมัณฑนา) ดิฉันก็บอกตรงๆ ว่า ไม่อยากสบาย ท่านถามว่าทำไม...เค้ามีรถยนต์ มีแหวนเพชรนะ-ไม่ค่ะ-คุณพ่อดิฉันติดคุกอยู่บางขวาง ท่านก็อึ้งไป หลวงอดุลย์เค้าจับ ดิฉันบอกว่า พ่อติดคุก แล้วลูกต้องไปเป็นดอกไม้ของศัตรู พ่อมิช้ำใจตายในคุกหรือ ท่านตอบว่า ฉันไม่ข่มขืนใจใคร ต่อไปนี้จ่ายเด็กคนนี้อีกเดือนละ 500 บาท เพราะเป็นเด็กรู้พระคุณ ตอนนั้นเงินเดือน 450 บาทเอง เพราะแรงกตัญญูนี่แหละจึงดันชีวิตได้ 12 ปี"
       
        "ตอนที่ท่านเข้าคุก มีคนมาตามดิฉันให้ไปที่กระทรวงยุติธรรม ให้ดิฉันพูดว่าเคยถูกบังคับให้เป็นเมียท่าน ดิฉันบอกว่า ดิฉันไม่ทำ เพราะดิฉันไม่ได้โดนบังคับ จะให้พูดในสิ่งที่ไม่จริง ดิฉันไม่ทำ หลายคนก็มองว่า ทำไมดิฉันไม่เล่นศัตรูกลับ ดิฉันถือว่าท่านมีพระคุณ"
       
        (อ่านต่อตอนที่ 2 "ชีวิตนักร้องในกรมโฆษณาการ")
       
       

       เพลง ดอกไม้กับแมลง
        เพลง นี้เกิดในสมัยที่ยังออกอากาศที่วิทยุศาลาแดง ดิฉันร้องเป็นคนแรก ตั้งแต่มาประจำวงดนตรีกรมโฆษณาการใหม่ๆ ต่อมาบันทึกเสียงกับแผ่นตราโคลัมเบียของห้างกมล สุโกศล เป็นเพลงไพเราะ จังหวะร่าเริงน่าฟัง
       
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9530000004169

--
โปรดอ่านBlog
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=porpayia&month=12-2009&date=07&group=10&gblog=69
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=auntymod
http://www.bloggang.com/index.php?category=20
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=praewkwun&month=10-12-2009&group=27&gblog=15 นาฬิกา+ปฎิทิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น